วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559

ความรู้เรื่องกลอนในภาษาไทย

กลอนในภาษาไทยคืออะไรนะ?
       เรามาทำความรู้จักกับกลอนในภาษาไทยกันเถอะ... Let's go! 


           


ความหมายของกลอน
             กลอน คือ คำประพันธ์ชนิดหนึ่งที่บังคับ คณะและเสียง วรรณยุกต์ บังคับสัมผัส คือเสียงที่คล้องจองกัน มีอยู่ด้วยกันหลาย ชนิด มีลักษณะบังคับที่แตกต่างกันไป และมีชื่อเรียกต่างๆกันตามแต่บัญญัติไว้
             กลอน เป็นลักษณะคำประพันธ์ไทยที่ฉันทลักษณ์ประกอบด้วยลักษณะบังคับ 3 ประการคือ คณะ จำนวนคำ และสัมผัส ไม่มีบังคับเอกโทและครุลหุ เชื่อกันว่าเป็นคำประพันธ์ท้องถิ่นของไทยแถบภาคกลางและภาคใต้ โดยพิจารณาจากหลักฐานในวรรณกรรมทั้งวรรณกรรมลายลักษณ์ (เป็นตัวหนังสือ) และวรรณกรรมมุขปาฐะ (เป็นคำพูดที่บอกต่อกันมาไม่มีการจดบันทึก) โดยวรรณกรรมที่แต่งด้วยกลอนเก่าแก่ที่สุดคือ เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา และเพลงยาว ณ พระที่นั่งจันทรพิศาล กวีแต่งในสมัยอยุธยาตอนปลาย ก่อนหน้านั้นกลอนคงอยู่ในรูปแบบวรรณกรรมมุขปาฐะเป็นร้อยกรองชาวบ้านเช่น บทร้องเล่น บทกล่อมเด็ก เพลงชาวบ้าน เป็นต้น



ที่มาของกลอน
           คำประพันธ์ประเภทกลอนเป็นคำประพันธ์ที่มีมานานแล้ว สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กลอนมาเจริญรุ่งเรืองมากในรัชกาลที่ 2 สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  กวีที่สำคัญได้แก่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและสุนทรภู่ ฯลฯ โดยเฉพาะท่านสุนทรภู่นั้นเราทุกคนได้ประจักษ์ชัดเจนว่าท่านเป็นกวีเอกของโลกเป็นบรมครูกลอนเรียกได้ว่าคำประพันธ์ประเภทกลอนได้เจริญพัฒนาสูงสุดลีลากลอนของท่านสุนทรภู่ได้รับการยอมรับให้เป็นกลอนที่มีความไพเราะที่สุด
     

การจำแนกประเภทกลอน

กลอนจำแนกตามฉันทลักษณ์
          ฉันทลักษณ์ของกลอนในวรรณกรรมจำแนกได้ 5 ประเภทคือ จำแนกตามจำนวนคำ จำแนกตามคำขึ้นต้น จำแนกตามคณะ จำแนกตามบทขึ้นต้นและจำแนกตามการส่งสัมผัส
      1. จำแนกตามจำนวนคำ จะแบ่งได้ 2 ชนิดคือ
           1.1 กลอนกำหนดจำนวนคำเท่ากันทุกวรรค (กลอนสุภาพได้แก่ กลอนสี่ กลอนหก กลอนเจ็ด กลอนแปด และกลอนเก้า
           1.2 กลอนกำหนดจำนวนคำในวรรคโดยประมาณ ได้แก่ กลอนนิทาน กลอนนิราศ กลอนเสภา
กลอนดอกสร้อย กลอนสักว กลอนบทละคร กลอนเพลงยาว และกลอนชาวบ้าน
      2. จำแนกตามคำขึ้นต้น จะแบ่งได้ 2 ชนิดคือ
           2.1 กลอนบังคับคำขึ้นต้น ได้แก่ กลอนดอกสร้อย กลอนสักวา กลอนเสภาและกลอนบทละคร
           2.2 กลอนไม่บังคับคำขึ้นต้น ได้แก่ กลอนสี่ กลอนหก กลอนเจ็ด กลอนแปด กลอนเก้า กลอนนิราศ กลอนนิทาน และกลอนเพลงยาว
      3. จำแนกตามคณะ จะแบ่งได้ 2 ชนิดคือ
           3.1 กลอนไม่ส่งสัมผัสระหว่างคณะ ได้แก่ กลอนดอกสร้อย และกลอนสักวา
           3.2 กลอนส่งสัมผัสระหว่างคณะ ได้แก่ กลอนบทละคร กลอนเสภา กลอนนิทาน กลอนนิราศ กลอนเพลงยาว กลอนสี่ กลอนหก กลอนเจ็ด กลอนแปด และกลอนเก้า
      4. จำแนกตามบทขึ้นต้น จะแบ่งได้ 2 ชนิดคือ
           4.1 กลอนบังคับบทขึ้นต้นเต็มบท (วรรค) ได้แก่ กลอนสี่ กลอนหก กลอนเจ็ด กลอนแปด กลอนเก้า กลอนดอกสร้อย กลอนสักวา กลอนเสภา และกลอนบทละคร
           4.2 กลอนบังคับบทขึ้นต้นไม่เต็มบท (วรรค) ได้แก่ กลอนนิราศ กลอนเพลงยาว และกลอนนิทาน
      5. จำแนกตามการส่งสัมผัส จะแบ่งได้ 2 ชนิดคือ
           5.1 กลอนส่งสัมผัสแบบกลอนสุภาพ ได้แก่ กลอนสี่ กลอนหก กลอนเจ็ด กลอนแปด กลอนเก้า กลอนดอกสร้อย กลอนสักวา กลอนเสภา กลอนนิทาน กลอนนิราศ กลอนเพลงยาว และกลอนบทละคร
           5.2 กลอนส่งสัมผัสแบบกลอนชาวบ้าน
                กลอนส่งสัมผัสแบบกลอนสังขลิก ได้แก่ กลอนในบทร้องเล่นของเด็ก
                กลอนส่งสัมผัสแบบกลอนหัวเดียว ได้แก่ กลอนเพลงชาวบ้าน เช่น เพลงเรือ ลำตัด เพลงอีแซว เป็นต้น
***กลอนสังขลิกและกลอนหัวเดียว ปรากกฎเฉพาะในร้อยกรองมุขปาฐะ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กลอนชาวบ้าน

กลอนจำแนกตามวัตถุประสงค์การนำไปใช้
      แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
            1. กลอนอ่าน เป็นกลอนที่ผู้แต่งมีจุดมุ่งหมายแต่งไว้สำหรับอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน แบ่งเป็น 8 ชนิด ได้แก่ กลอนนิราศ กลอนเพลงยาว กลอนนิทาน กลอนสี่ กลอนหก กลอนเจ็ด กลอนแปด และกลอนเก้า
            2. กลอนร้อง เป็นกลอนที่แต่งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายสำหรับการขับโต้ตอบกัน การขับลำนำเพื่อความไพเราะ และการขับร้องประกอบการแสดงเพื่อความบันเทิง แบ่งเป็น 5 ชนิด ได้แก่ กลอนดอกสร้อย กลอนสักวา กลอนเสภา กลอนบทละคร และกลอนเพลงชาวบ้าน





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น